ประวัติความเป็นมา

 ประวัติตำบลนาเกลือ

แต่เดิมชื่อ สาขลา เป็นหมู่บ้านที่มีความเป็นมาแต่ครั้งโบราณราวสมัยอยุธยาตอนปลายหรือต้นรัตนโกสินทร์ มีโบราณสถาน โบราณวัตถุ ขนบธรรมเนียมประเพณี ภาษา การละเล่นพื้นเมืองที่ยังคงมีมาถึงปัจจุบันซึ่งถือว่าเป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่มีค่าของชาวจังหวัดสมุทรปราการ

คำว่า สาขลา มาจากคำว่า สาวกล้า ซึ่งชาวสาขลามีความภาคภูมิใจที่มีความเป็นมาในอดีต มีความผูกพันเกี่ยวกับการสู้รบกับพม่า ดังนี้

สมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช พม่ายกกองทัพมาประชิดกรุงเทพ โดยยกมาถึง 9 ทัพ จึงเรียกกันว่า สงคราม 9 ทัพ พม่ามีกำลังรี้พลถึง 140,000 คน เข้าตีกรุงเทพ 5 ทัพ ตีเมืองเหนือ 2 ทัพ ปักษ์ใต้ 2 ทัพ ซึ่งเป็นสงครามที่ยิ่งใหญ่กว่าครั้งใด ๆ ในประวัติศาสตร์ ในการสงครามครั้งนี้ไทยพยายามมิให้ข้าศึกเข้าถึงพระนครได้ ส่งกองทัพออกไปตั้งรับนอกพระนคร โดยคำนึงถึงความปลอดภัยของประชาชนและบ้านเมืองเป็นหลัก ชายฉกรรจ์ทุกคนต้องเป็นทหาร ดังนั้น ในพระนคร หมู่บ้านต่าง ๆ รวมทั้งสาขลา จึงมีแต่ผู้หญิง เด็ก และคนชรา เท่านั้น

ทัพพม่า โอบล้อมกรุงเทพ โดยทางบกและทางเรือ บ้านสาขลาในสมัยนั้นขึ้นอยู่กับธนบุรี เพราะในด้านการคมนาคมทางน้ำ คลองกระออมติดต่อใกล้กับธนบุรี หมู่บ้านสาขลาต้องประสบกับภัยพิบัติในครั้งนี้ด้วย เพราะสาขลาเป็นถิ่นที่อุดมสมบูรณ์ไปด้วยข้าวปลา อาหาร นาเกลือ ซึ่งเป็นเสบียงที่สำคัญของกองทัพ พม่าได้ส่งกองลาดตระเวณออกกวาดต้อนคนไทย และเสบียงอาหาร ขณะนั้นชายฉกรรจ์ในหมู่บ้านต้องเป็นทหาร คงเหลือแต่เด็กผู้หญิง เด็กและคนชรา จึงร่วมใจกันจับอาวุธ เท่าที่จะหาได้ใช้กลยุทธ์ในการต่อสู้ อีกทั้งความชำนาญในภูมิประเทศ เข้าสู้รบกับกองลาดตระเวนพม่าจนได้ชัยชนะเรียกว่าคลองชัย และได้เรียกกันมาจนถึงปัจจุบันนี้

ในบริเวณ วังขังน้ำทำนาเกลือตับคลองชัย ปัจจุบันเป็นนากุ้ง ยังมีตอเสาใหญ่ ๆ อาจเป็นเสาวัด หรือบ้านจมอยู่ใต้ดินและมีซากของใช้ เช่น ถ้วย ชาม จาน โครงกระดูกมนุษย์ในสมัยก่อน เป็นจำนวนมากจมอยู่ใต้ดิน บริเวณใกล้เคียงที่ปลายวังขังน้ำนาเกลือตับคลองตรง มีผู้ขุดพบโบราณวัตถุสมัยสุโขทัย อาทิ ชาม จานลวดลายเบญจรงค์ สังคโลก ลายคราม ฯลฯ เป็นจำนวนมาก และชีวิตความเป็นอยู่ของชาวสาขลาเอง สมัยก่อนจะใช้เครื่องถ้วยชามเบญจรงค์กัน แต่ในสมัยนี้ได้เก็บไว้เป็นของเก่าบ้าง ขายไปบ้าง บริเวณปากคลองส่วนเก่า ที่ทางราชการกรมสหกรณ์ที่ดิน จ้างขุดคลองพิทยาลงกรณ์ พบชิ้นส่วนจานชามของใช้ในสมัยเดียวกัน

ปัจจุบันวิถีชีวิตบ้านสาขลา เป็นชุมชนประมงอีกชุมชนหนึ่ง อาชีพส่วนใหญ่ทำการประมง และผลิตภัณฑ์จากสัตว์ทะเล เช่น กะปิ กุ้งแห้ง กุ้งตัวเหยียด ปูเค็ม หอยพิมพ์เค็ม ปลาเค็ม สิ่งที่น่าสนใจของหมู่บ้านสาขลา คือ ความแตกต่างระหว่างชุมชนเมืองและวิถีชีวิตเรียบง่ายของชาวบ้าน นอกจากนั้นยังมีสิ่งที่น่าสนใจได้แก่ นกกระสา นกกา และพระเอียงที่สร้างสมัยกรุงศรีอยุธยา เป็นลักษณะย่อไม้มุมสิบสอง

ซึ่งสร้างลักษณะเดียวกับพระปรางค์วัดพระราม หรือพระปรางค์วัดมหาธาตุกรุงศรีอยุธยา มีหลวงพ่อโตวัดสาขลาเป็นที่เคารพบูชาของชาวสาขลาและเพื่อนบ้านใกล้เคียง ประเพณีวัฒนธรรมของบ้านสาขลา หมู่บ้านสาขลา ประชาชนมีทั้งเชื้อสายไทย จีน และมอญ การคมนาคมสมัยก่อนต้องอาศัยทางเรือ ทำให้รักษาประเพณีวัฒนธรรมของตนไว้ได้ แต่ในปัจจุบันบางอย่างก็เลือนหายไป บ้านสาขลาจะมีการละเล่นต่างๆ ในช่วงสงกรานต์ ซึ่งเป็นงานปีใหม่ของไทย ชาวบ้านจะทำบุญตักบาตร รดน้ำขอพรจากผู้ใหญ่ พอช่วงเวลาเย็นจะมีการละเล่นสนุกสนานร่วมกัน เช่นผู้ใหญ่จะมีการทรงเจ้าเข้าผี เช่น การเข้าทรงผีข้อง ผีกระด้ง ผีสาร การเข้าลิงลม ส่วนเด็กๆ จะเล่นเตขี่ มอญซ่อนผ้า ขี่ม้าส่งเมือง แม่งูกินหาง ตี่จับ รีรีข้าวสาร นอกจากนี้ยังมีการเล่นสะบ้า

งานประจำปี ราวปลายเดือนสิบเอ็ด หลังออกพรรษาจะมีงานประจำปีแห่งหลวงพ่อโต งานนี้จะมีการแห่หลวงพ่อโตจำลงไปตามคลองสรรพสามิตไปถึงท่าเรือปากน้ำเพื่อให้ประชาชนได้สักการบูชา มีการแข่งเรือประกวดเรือส่วนกลางคืนมีมหรสพ

ภาษาของชาวสาขลา เหมือนกันชาวบ้านภาคกลางทั่วไปเพียงแต่หางเสียงจะมีลักษณะเหน่อ เหมือนภาษามอญ พูดเร็ว มีที่แตกต่างจากภาษาภาคกลางบ้าง เช่น การทักทายจะไปไหน พูดว่าไปหนา เมื่อกี้นี้ พูดว่า ปะเกี๊ยะ นี่หรือ พูดว่า เนี่ยะเล่อะ อยู่ไหน พูดว่า อยู่หนา ไม่เอา พูดว่า ไม่อา ไปแล้วนะ พูดว่า ไปแล้ว นอกจากนี้การเรียกชื่อของใช้ที่แตกต่างจากภาคกลาง เช่น บันได เรียกว่า กะได กางเกง เรียกว่า กุงเกง กะละมัง เรียกว่า กะมัง ตู้ เรียกว่า ชั้ว ผ้าขาวม้า เรียกว่า ผ้ายี่โป้ สะพาน เรียกว่า ตะพาน ขนมจาก เรียกว่า ขนมย่าง เป็นต้น

ตราสัญลักษณ์

Admin

Share: